วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2557

วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์



วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ( subprime mortgage crisis)  วิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพ เป็นปัญหาเศรษฐกิจในช่วงปี พ.ศ. 2550 ถึงปี  2551 ปัญหาที่เกิดขึ้นคือความคล่องตัวของสินเชื่อทั่วโลกลดลง มีสาเหตุหลักมาจากความซบเซาของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา การกู้ยืมและการให้กู้ยืมที่มีความเสี่ยงสูง และระดับหนี้สินของบริษัทและบุคคลที่สูงเกินไป
วิกฤติครั้งนี้มีสาเหตุที่ซับซ้อนมาจากหลายปัจจัยซึ่งค่อยๆพัฒนาขึ้นจากในตลาดอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อเช่น การที่เจ้าของบ้านไม่สามารถชำระเงินที่กู้ยืมมา การตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้กู้ยืมหรือผู้ปล่อยกู้ การเก็งกำไรและการสร้างบ้านมากเกินไปในช่วงที่ตลาดเติบโตอย่างรวดเร็ว สินค้าทางสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง อัตราหนี้สินของบุคคลและบริษัทที่สูง ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ นโยบายและการควบคุม (หรือการขาดการควบคุม) ของธนาคารกลาง ผลกระทบที่เกิดคือในหลายพื้นที่ในสหรัฐ การผิดชำระหนี้และการยึดทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อหมดเงื่อนไขเบื้องต้นอย่างง่าย ราคาบ้านไม่สูงขึ้นอย่างที่คิด และอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเริ่มสูงขึ้น การยึดทรัพย์สินในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2549 และทำให้ปัญหาทางการเงินนั้นแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วโลกในปี พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2551
วิกฤติซับไพรม์ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในภาคการเงินและทำให้นักลงทุนพากันถอนเงินออกจากพันธบัตรที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่มีความเสี่ยงและหุ้นที่มีราคาไม่แน่นอน และนำไปเก็บสะสมในรูปของสินค้าโภคภัณฑ์แทนการเก็งกำไรในราคาล่วงหน้าของสินค้าต่าง ๆ หลังจากตลาดอนุพันธ์ล่ม ทำให้เกิดปัญหาวิกฤติราคาอาหารโลกและภาวะน้ำมันขึ้นราคา วิกฤตินี้ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบกับสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาหลายอย่าง จีดีพีของสหรัฐอเมริกาถูกประเมินว่าจะหดตัวลงร้อยละ 5.5 ต่อปีในระหว่างไตรมาสที่สี่ของปี พ.ศ. 2551 นายจ้างเลิกจ้างกว่า 2.6 ล้านตำแหน่งระหว่างปี 2551 ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 ในเดือนกันยายน 2551 จำนวนคนตกงานในสาขาการเงินสูงถึง 65,400 คนในสหรัฐ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจนถึงร้อยละ 7.2 ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 16 ปี